top of page
รอยยิ้มจากข้าวห่อ
_MG_8496.jpg

     ผู้สร้างรอยยิ้มที่มาจากถังขยะ ทางเดินชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่แสนน่าเวทนาสงสาร ความลำบาก ความยากไร้ อดมื้อกินมื้อ เธอไม่เคยมีรอยยิ้มที่ออกมาจากความสุขอย่างแท้จริง และการสูนเสียเป็นสิ่งที่เธอเจอมาโดยตลอด แต่ด้วยใจที่สู้ อดทนไม่เคยคิดโทษโชคชะตา จนทำให้เธอกลายมาเป็น คุณ อัมพาพันธ์ อมรวานิชย์ ที่แจกจ่ายความสุขรอยยิ้มจากข้าวห่อจนถึงทุกวันนี้

     คูณ อัมพาพันธ์ อมรวานิชย์ หรือ ป้าจ๋า อายุ62ปี เป็นเศรษฐีที่ชีวิตเริ่มต้นจากถังขยะสู่นักธุรกิจร้อยล้าน กับบทบาทสำคัญถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตผ่านข้าวห่อ ที่เอื้อเฟื้อแก่ผู้ยากไร้ในตำบล ท่าวัง อำเภอ เมือง จังหวัด นครศรีธรรมราช เนื่องจากชีวิตที่ผ่านเรื่องราวความลำบากที่เลวร้ายหลังจากบิดาได้เสียชีวิตลง จากอุบัติเหตุรถชน จนชีวิตของเธอต้องกระเสือกกระสนอยู่กับแม่ที่ตาสามารถมองเห็นได้เพียง 5% ของคนปกติหรือแทบจะมองไม่เห็น และพี่น้องร่วมชะตาชีวิตอีก 3 คน ป้าจ๋าได้เล่าว่า ตนเองได้พบเจอกับความลำบากถึงขีดสุดขนาดที่ในตอนนั้นอายุแค่ 7 ขวบ ซึ่งต้องตระเวนคุ้ยเขี่ยถังขยะ เพื่อหากระป๋องนมข้นหวานให้ได้ 5 ใบ นำมาล้างและส่งร้านกาแฟแลกกับเงิน 1 สลึง ชีวิตวัยเด็กของป้าจ๋าไม่เคยได้ลิ้มรสของขนมเลย แม้ว่าจะอยากกินแค่ไหนก็ตาม เวลาอยากกินแม่ก็จะบอกให้ไปปีนต้นลูกตะขบหน้าศาลเจ้าเสมอ บางครั้งลำบากและหิวโหยชนิดที่ต้องคุ้ยของกินในถังขยะ ซึ่งบางครั้งก็จะได้เปลือกแตงโมที่ยังมีเนื้อแดงๆเหลืออยู่ กับเม็ดมะม่วงที่ยังเหลือร่องรอยความหวาน นำมากัดดูดให้พอได้รู้รสชาติ ภาพของผู้หญิงที่เข้มแข็งในวันนี้เธอต้องผ่านอะไรมามากมายขนาดนี้เลยหรอ ชีวิตของป้าจ๋าได้เรียนจบแค่ ป.4 เนื่องจากแม่ไม่สามารถส่งเรียนต่อในระดับ ป.5 ได้ ในขณะที่ป้าจ๋าสามารถสอบเข้าได้เป็นอันดับ 1 ของนักเรียนที่สอบทั้งหมด ป้าจ๋าพูดด้วยน้ำเสียที่ค่อยๆเบาลงว่า ตอนนั้นยอมรับว่าเสียใจมากและร้องไห้ออกมา เพราะป้าจ๋าเป็นคนที่ชอบเรียนหนังสือ ชอบเรียนรู้มากแต่เข้าใจว่าเราไม่สามารถเรียนหนังสือต่อได้เพราะอะไร ความเสียใจในตอนนั้นไม่นานป้าจ๋าลุกขึ้นและสู้ต่อ ทำงานรับจ้างเป็นเสาหลักของครอบครัวทำงานทุกอย่าง แม้กระทั่งรับจ้างขนน้ำเข้าซ่อง ระยะทางกว่า500เมตรกับน้ำกว่า200ลิตร เพื่อแลกกับเงินแค่1บาท ป้าจ๋าพูดด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น แววตาเห็นถึงความใจสู้ หลังจากประคบประคองครอบครัวไปเรื่อยๆ และได้รับการช่วยเหลือจากพี่ชายที่พลัดพรากกันเป็นสิบๆปี ได้ส่งให้เรียนตัดเย็บ และเปิดร้านเล็กๆให้ เมื่อป้าจ๋าอายุได้ 20ปี ก็ได้แต่งงานกับลูกคนจีนครอบครัวหนึ่ง ที่ไม่ได้ร่ำรวยนักและเริ่มทำงานเป็นนักธุรกิจ โดยจำได้ดีว่าครั้งนั้นจุดเริ่มต้นกว่าที่จะได้ดิบได้ดีมีทุกวันนี้เพราะการนำเครื่องซักผ้าและทีวีขาวดำ ไปจำนำเพื่อเอาเงิน 4000 บาท มาลงทุนกับสามี ต้องบากบั่นสู้ชีวิตลองผิดลองถูกอยู่หลายปีจนเริ่มอยู่ตัว โดยยึดคติเตือนใจมาเสมอว่า “ไม่มีความยากจนในหมู่คนขยัน”

20181028_181028_0005.jpg
_MG_8419.jpg

ด้วยความขยันของป้าจ๋า ใจที่สู้ผ่านมรสุมชีวิต และบททดสอบชีวิตมาอย่างโชคโชน จนทำให้สามารถก่อตั้งห้างผ้าของตัวเองชื่อว่า “ห้างผ้าโชคดี” ในปี พ.ศ.2526 และตอนนี้สิ่งที่ป้าจ๋าเจอมาในอดีตส่งผลให้มีอนาคตที่ดีขึ้น เป็นนักธุรกิจอันดับต้นๆของภาคใต้คนหนึ่ง ปัจจุบันมีบริษัทที่บริหารเองกว่า 7 แห่ง เงินสะพัดในแต่ละปีกว่าหลายร้อยล้านบาท และป้าจ๋าได้มองเห็นสัจธรรมข้อหนึ่งคือการให้ เมื่อเธอมีก็อยากที่จะแบ่งปันให้คนที่ยากไร้ ป้าจ๋าเล่าว่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้สึกอยากบริจาคข้าวห่อให้แก่ผู้ยากไร้คือเหตุการณ์ที่ ป้าจ๋าได้มองออกไปจากร้านขายผ้าของตัวเองแล้วเห็นคนจรจัด มาคุ้ยเขี่ยหาอาหารกินในถังขยะที่หน้าร้าน เธอเห็นภาพตัวเองในวัยเด็กได้ลอยขึ้นมา ความรู้สึกนั้นป้าจ๋าบอก ไม่เคยลืมมันน่าเวทนาแก่ผู้พบเห็นมากมายขนาดไหน ตนเองเลยคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง แล้วจวบกับก่อนหน้าไม่กี่ปีป้าจ๋าได้พบบทเรียนจากการสูญเสียสามีด้วยโรคมะเร็ง เห็นสัจธรรมที่ว่า “ตายไปก็ไม่สามารถเอาอะไรไปได้สักอย่างแม้แต่ผ้าสักหลาก็ยังเอาไปไม่ได้”

     ทำให้ป้าจ๋ามีแรงปันดาลใจที่จะทำอะไรเพื่อแบ่งปัน ตอบแทนให้สังคมบ้าง ก็ได้เล็งเห็นพื้นที่ว่างหน้าร้านห้างผ้าโชคดีของตัวเอง เลยแบ่งพื้นที่เป็นโรงเตี้ยมเพื่อแจกจ่ายข้าวห่อให้แก่ประชาชน โดยตอนแรกอาหารที่แจกคืออาหารเจ เริ่มต้นที่50ห่อ แต่กว่าจะแจกหมดก็ใช้เวลานานด้วยความที่เป็นอาหารเจ ป้าจ๋าเลยคิดหาวิธีก็เลยเปลี่ยนเมนูมาเป็นไข่เจียวกับน้ำพริก ความหอมอบอวนของไข่เจียวที่กระจายไปทั่วท่าวัง ทำให้จำนวนข้าวห่อที่แจกต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจาก 50 ห่อจนปัจจุบันจำนวนที่แจก 500 ห่อต่อวัน ป้าจ๋าได้กลับไปทบทวนเกี่ยวกับอาหารอีกครั้งหนึ่ง เพราะก่อนหน้านี้ได้ให้เงินลูกชายเพื่อไปซื้อ หมู ไก่ เนื้อ ในตลาดเพื่อมาทำข้าวห่อ ก็เท่ากับว่าตัวเองได้เป็นผู้เบียดเบียนและจ้างฆ่าสัตว์เอง ซึ่งเป็นการกระทำที่ป้าจ๋าเองไม่สบายใจเพราะโดยปกติเป็นคนที่ทานมังสวีรัต สุดท้ายก็เลยเปลี่ยนมาเป็นอาหารเจ ป้าจ๋าพูดว่า “ทำบุญได้บุญแล้วเราต้องไม่เบียดเบียนสัตว์” ในตอนแรกคนอาจจะมองว่าอาหารเจรสชาติจะไม่อร่อย แต่ป้าจ๋าก็ได้ไปปรึกษาจากผู้ชำนาญทำให้อาหารป้าจ๋านั้นมีรสชาติที่อร่อย ข้าวห่อของป้าจ๋าวันละ500ห่อจึงหมดเร็วทุกวันแทบจะไม่พอด้วยซ้ำ ทั้งหมดป้าจ๋าได้เป็นคนลงมือทำเองหมดไม่ว่าจะเป็นการปรุง การห่อ และแจกจ่ายก็ได้แจกจ่ายด้วยตัวเอง โดยเริ่มแจกในเวลา 8 โมงเช้าทุกวัน ยกเว้นวันอาทิตย์ ผู้คนส่วนใหญ่ที่มารับข้าวจากป้าจ๋าจะเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย เช่น คนเก็บขยะ คนกวาดขยะ วินมอเตอร์ไซค์ ก็จะจำได้หมด คนนี้ลูกใคร ครอบครัวนี้มีลูกกี่คน

     ผู้คนที่ต่อแถวยาวเหยียดด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มอิ่มเอมไปด้วยความสุขบนใบหน้า ป้าจ๋าได้พูดขึ้นมาด้วยใบหน้าที่มีความตื้นตันว่า รู้สึกปลื้มปิติมีความสุขทุกครั้งที่ได้ช่วยให้ผู้คนไห้กินอิ่มในแต่ละมื้อ ด้วยกับข้าวดีๆที่เราได้มอบให้ หน้าห้างผ้าโชคดีจึงกลายสถานที่ ที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มเป็นภาพที่คนนครศรีฯเห็นกันจนชินตา กับหญิงสาวรุ่นใหญ่ที่แจกจ่ายความสุขให้แก่ประชาชน ป้าจ๋ายังพูดพร้อมรอยยิ้มอีกว่า การแจกให้แต่ละคนนั้นไม่ได้แจกคนละห่อเพราะอย่างน้อยคือคนละ 4 ห่อ สูงสุดที่เคยแจกมาคือ 20 ห่อต่อคน แล้วแต่สภาพความลำบากของผู้คนในแต่ละครอบครัว ป้าจ๋าคิดว่าการแจกจ่ายอาหารนั้นสามารถแก้ปัญหาผู้ยากไรได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น วินมอเตอร์ไซค์มารับข้าววันละ 2 มื้อ ซึ่งมื้อหนึ่งก็ 30-40 บาทเป็นอย่างต่ำ การที่เขาได้รับข้าวห่อจากป้าจ๋า ก็ช่วยเขาประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้แล้วไปใช้จ่ายในส่วนอื่นได้ ด้วยปริมาณคนที่มารับข้าวห่อกันเพิ่มขึ้นจนไม่พอ แต่ป้าจ๋าบอกว่าสามารถจะแจกได้แค่500ห่อเท่านั้น เนื่องด้วยเวลาที่จำกัด เพราะในแต่ละวันมีภารกิจหลายอย่างที่ต้องทำ ธุรกิจที่บริหารด้วยตัวเอง แต่ป้าจ๋ายืนยันด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่ว่า “จะทำทานโดยการแจกข้าวห่อแบบนี้ไปเรื่อยๆเพื่อสร้างรอยยิ้มความสุขให้แก่ผู้ยากไร้โดยไม่สามารถตอบได้ว่าจะหยุดเมื่อไหร่” เพราะถือเจตนารมณ์คือทำไปเรื่อยๆโดยไม่ได้หวังอะไรเลยมีความสุขที่ได้ให้ ป้าจ๋าได้ย้ำคำๆนี้ “ป้าจ๋าให้เพื่อให้ไม่ได้ให้เพื่อหวังผลตอบแทน”

     จากเหตุการณ์ร้ายๆที่ป้าจ๋าเคยผ่าน ความลำบากยากจนมาก่อน ในปัจจุบันป้าจ๋าได้ย้ำกับตัวเองอยู่เสมอว่าป้าจ๋าไม่ใช่เศรษฐี อย่าเรียกป้าจ๋าว่าเศรษฐีเลยลูก (พร้อมกับหัวเราะ) เพราะป้าจ๋าก็คือมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งคิดอยู่เสมอว่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ถือเป็นความโชคดีที่เราได้เจอเรื่องราวต่างๆ เพราะในทุกเรื่องราวมันจะมีประโยชน์เชิงแฝงในทุกๆปัญหา ทุกเรื่องราวไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี ให้เราได้เรียนรู้อยู่เสมอมันคือบททดสอบชีวิต ที่ผ่านมาชีวิตป้าจ๋าเริ่มตั้งแต่วัยเด็กแทบจะไม่ได้รับรอยยิ้มจากใครเลย ซึ่งในวันนี้ที่เรามีโอกาสที่สามารถจะสร้างรอยยิ้มให้ผู้อื่นได้ โดยการทำผ่านข้าวห่อที่จะให้ผู้คนได้อิ่มท้องในแต่ละมื้อ และได้มีแรงสู้ในการดำเนินชีวิตต่อไป “รอยยิ้มจากใบหน้าของผู้คนที่มารับข้าวห่อนั้นมันคือความสุขของป้าจ๋าแล้ว” เธอพูดพร้อมกับอมยิ้มและด้วยใบหน้าที่อิ่มเอมไปด้วยความสุข จากการได้เป็นผู้ให้อย่างแท้จริง ผ่านข้าวห่ออันเป็นที่มาของคำว่า “รอยยิ้มจากข้าวห่อ”

20181028_181028_0003.jpg
_MG_8433.jpg

เรื่อง: นาย ณัฐชัย โต๊ะเปี้ย

         นาย ศิริศักดิ์ นิยมเดชา

bottom of page